อาการหายใจติดขัดของคนท้องกับผลกระทบต่อ เด็กในครรภ์

อาการหายใจติดขัด

ช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 คุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆ ท่านอาจเกิดปัญหาเรื่องมีอาการหายใจติดขัด รู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด อาการนี้เกิดจากการที่ขนาดของครรภ์ใหญ่ขึ้นไปดันเอากระบังลมให้เคลื่อนขึ้นสูง ประกอบกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย และความต้องการออกซิเจนในร่างกายที่ต้องส่งต่อไปให้ เด็กในครรภ์ มีมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการหายใจติดขัด รู้สึกว่าหายใจเข้าไปได้ไม่เพียงพอ หายใจเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มและจะยิ่งเป็นปัญหามากในกรณีที่คุณแม่เป็นผู้ที่ป่วยด้วยอาการโรคหอบหืดอยู่ก่อนแล้ว ก็จะยิ่งทำให้อาการกำเริบได้ง่าย

ผลกระทบที่เกิดกับทารกในครรภ์ ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาเรื่องการหายใจที่ติดขัด จะทำให้ปริมาณออกซิเจนที่รับเข้าไปในร่างกายลดลง เมื่อหายใจได้น้อยลงปริมาณออกซิเจนในเลือดก็ต่ำลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกซิเจนไปให้ลูกน้อยในครรภ์ ทำให้มีปริมาณออกซิเจนที่ส่งให้ทารกลดลงด้วย เรื่องนี้หากเป็นติดต่อกันนาน หรือคุณแม่มีอาการหนัก จะส่งผลต่อพัฒนาการของทารก ทั้งทางร่างกายและสมอง ! ทารกในครรภ์จะเติบโตช้า และอาจกลายเป็นทารกที่มีขนาดเล็กมากกว่าเกณฑ์

นอกจากนี้ยังพบว่า คุณแม่ที่มีปัญหาในเรื่องระบบหายใจ ยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย และมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการครรภ์เป็นพิษซึ่งมีอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

มีรายงานพบว่า คุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องระบบหายใจในระหว่างตั้งครรภ์ มีภาวการณ์คลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ปกติ และมีโอกาสคลอดทารกที่มีขนาดร่างกายเล็ก และไม่แข็งแรงสมบูรณ์ต้องดูแลเป็นพิเศษมากกว่าทารกทั่วไป

สิ่งที่ควรทำก็คือ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฝึกการหายใจให้ช้าและลึกมากกว่าปกติ อาจจะเป็นการฝึกหายใจร่วมกับการฝึกสมาธิก็ได้ เพราะส่งผลดีต่อทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ และควรมีการตรวจ ภาวะหอบหืดตั้งแต่ช่วงก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้ถูก และหากมีอาการมากควรรับปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการหรือใช้ยาในการรักษาอาการนั้นๆ เพื่อที่จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อ เด็กในครรภ์ และทำให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์

ภาพประกอบจาก : all-free-download.com

Posted in พัฒนาการทารก Tagged with:

ใส่ความเห็น

ใส่อีเมลล์ของคุณที่เพื่อสมัครเป็นสมาชิกของบล็อกนี้ และรับการแจ้งโพสใหม่ผ่านทางอีเมลล์