ผักเครือเถา ข้อห้ามคนท้องสมัยโบราณ

ผักเครือเถา

เวลาพูดกันในเรื่องเกี่ยวกับอาหารของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ โดยทั่วๆ ไปจะนิยมแนะนำให้คุณแม่ทานอาหารในกลุ่มพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารประเภทที่มีกากใยสูง ช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการขับถ่ายของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ ที่มักมีอาการท้องผูกได้ง่ายกว่าปกติ อาการนี้เกิดจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่ไปรบกวนระบบการย่อยอาหารจึงส่งผลกระทบมาถึงระบบการขับถ่าย และยังรวมไปถึงขนาดของครรภ์ที่โตขึ้นเรื่อยๆ ไปกดทับเอาลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดปัญหาการขับถ่ายที่ไม่สะดวก การทานอาหารประเภทพืชผักจึงมีความจำเป็นมากที่จะช่วยลดปัญหาในเรื่องนี้ แต่สำหรับในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหากมีการตั้งครรภ์ ก็จะต้องปฏิบัติตนตาม ข้อห้ามคนท้อง ที่บอกสืบทอดต่อๆ กันมาในหลายเรื่องหลายราว และแม้แต่อาหารประเภทพืชผัก ก็มีข้อห้ามด้วยเช่นกัน

หนึ่งในประเภทผักที่อยู่ในข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารการกินของคนท้องก็คือ พืชผักที่มีลักษณะเป็นเครือ เป็นเถา เช่น ผักตำลึง ยอดฟักทอง ยอดมะระ เป็นต้น การห้ามนี้มีการให้คำอธิบายตามความเชื่อว่า หากคนท้องกินผักประเภทเครือเถาเข้าไปจะคลอดลูกยาก ว่ากันว่าลูกจะยึดแน่นอยู่ในท้องเหมือนกับการยึดเกาะติดตามที่ต่างๆ ของผักประเภทเครือเถา และแน่นอนว่าในสมัยที่การแพทย์ไม่เจริญอย่างในสมัยโบราณ การคลอดลูกยาก เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทั้งแม่และทารกต้องเสียชีวิต ดังนั้นผักเครือเถาจึงถูกห้ามกินค่อนข้างเด็ดขาด แต่ก็ยังมีเปิดช่องไว้ว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ให้เด็ดปลายยอดออกเอาเคล็ดก่อนกินได้บ้าง

สำหรับคนปัจจุบันหลายๆ คนอาจมองว่า ข้อห้ามคนท้อง โบราณ บางเรื่องดูไม่สมเหตุสมผล และเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่มีส่วนเกี่ยวพันกัน แต่… อย่างไรก็ดี เราจะไม่นำมาพิจารณาให้ละเอียดก่อนก็คงไม่เหมาะ

หากถามว่าการกินผักประเภทนี้มีผลเสียต่อสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์บ้างหรือไม่ ก็ขอบอกว่า “มีโอกาส” แต่ก็เฉพาะในกลุ่มคุณแม่ที่มีอาการข้ออักเสบในช่วงตั้งครรภ์ เพราะผักประเภทนี้ส่วนที่จะนำมารับประทานจะเป็นส่วนยอดอ่อน การทานยอดอ่อนของผักนั้นเราคงทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการโรคเก๊าท์กำเริบได้ เนื่องจากมีสาร Purin อยู่ในยอดผักสูง สารนี้เมื่อเข้าสู่ระบบการย่อยจะเกิดกรดยูลิก ซึ่งทำให้อาการเก๊าท์กำเริบ

เราจะเห็นได้ว่า ผักเครือเถา ข้อห้ามคนท้องสมัยโบราณ มีเคล็ดให้เด็ดยอดอ่อนออก ซึ่งก็ดูสอดคล้องกับการป้องกันอาการกำเริบนี้ ส่วนเกี่ยวกับการยึดติดของลูกในครรภ์ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่นใดพบว่าเป็นจริง

ภาพประกอบจาก : kplant.biodiv.tw

Posted in คนท้อง Tagged with: , ,

ใส่ความเห็น

ใส่อีเมลล์ของคุณที่เพื่อสมัครเป็นสมาชิกของบล็อกนี้ และรับการแจ้งโพสใหม่ผ่านทางอีเมลล์